วันเสาร์ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2555

กลยุทธ์ข้อความลายเซ็น

สำหรับ ผู้อ่านที่ใช้งานอีเมล์เป็นประจำ ท่านอาจจะเคยสังเกตเห็นการลงลายเซ็น (Signature File) ท้ายข้อความในอีเมล์จากผู้ส่งอีเมล์มาหาท่าน การลงลายเซ็นนี้ก็เปรียบเสมือนกับนามบัตรของผู้ส่งนั่นเอง มันสามารถบ่งบอกได้ว่าผู้ส่งอีเมล์ดำเนินธุรกิจอะไร ขายสินค้าหรือบริการอะไรอยู่ นอกจากนี้ผู้ส่งอีเมล์ยังสามารถที่จะประชาสัมพันธ์กิจกรรมการตลาดหรือโปรโมชั่นสินค้าผ่านข้อความลายเซ็นนี้อีกด้วย
 
 
ลายเซ็นเป็นข้อความที่จะปรากฏทุกครั้งที่คุณส่ง (Send หรือ Post) ข้อความอีเมล์ คุณสามารถติดตั้งคุณสมบัติและกำหนดข้อความลายเซ็นได้ด้วยตนเอง ไม่ว่าคุณจะใช้โปรแกรมอีเมล์อย่าง Outlook, Eudora หรือ ผ่านทางเว็บบราวเซอร์ก็ตาม อีกทั้ง คุณสามารถเลือกใช้ หรือ ไม่ใช้ คุณสมบัตินี้เมื่อใดก็ได้
 
ลาย เซ็นได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญและได้รับความนิยมมาโดยตลอด โดยเฉพาะนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการตลาดอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากการเพิ่มคุณสมบัติข้อความลายเซ็นไม่ได้ทำให้ค่าใช้จ่ายของท่าน เพิ่มขึ้นแต่อย่างใด บริการฟรีอีเมล์อย่าง Hotmail ก็ใช้กลยุทธ์การลงลายเซ็นกับอีเมล์ทุกฉบับที่สมาชิกส่ง เพียงแค่ข้อความสั้นๆ ว่า “Get Your Private, Free Email at http://www.hotmail.com ในทุกๆ อีเมล์ ก็ทำให้บริการฟรีอีเมล์อย่าง Hotmail ได้รับความนิยมเป็นอันดับหนึ่งในระยะเวลาอันสั้น
 
องค์ประกอบหลักของข้อความลายเซ็นก็คือ
  • ชื่อของท่าน
  • ที่อยู่อีเมล์ของท่าน
  • ชื่อบริษัทของท่านพร้อมเว็บไซต์
 
นอกจากนี้ ท่านสามารถจะบรรจุรายละเอียดของ
  • เบอร์โทรศัพท์สำหรับการติดต่อ
  • ที่อยู่ไปรษณีย์ของท่าน
  • สโลแกนหรือประโยคที่จะบ่งถึงความเป็นตราสินค้าของท่าน
  • และสุดท้าย ท่านสามารถที่บรรจุข้อความประชาสัมพันธ์โฆษณาเพื่อให้เกิดกิจกรรมตามมา (Call to action) ได้
 
ท่าน อาจจะสังเกตตัวอย่างของลายเซ็นที่ท่านได้รับแล้วคัดเลือกมาเป็นต้นแบบของ บริษัทแล้วให้พนักงานทุกคนในบริษัทปฏิบัติตาม ตัวอย่างเว็บไซต์นี้ได้รวบรวมลายเซ็นที่ท่านสามารถจะเลือก ใช้ได้ http://www.contrib.andrew.cmu.edu/~moose/sigs.html
 
ก่อน ที่ท่านจะเลือกลายเซ็นใด ท่านอาจจะลองทดสอบส่งไปหากลุ่มเป้าหมายก่อนว่าลายเซ็นนี้ใช้ได้ผลหรือไม่ โดยเฉพาะข้อความลายเซ็นเพื่อการโฆษณาประชาสัมพันธ์สินค้าและบริการด้วยแล้ว โดยทั่วไป ข้อความลายเซ็นควรจะมีความยาวไม่เกิน 6 บรรทัด ถ้าข้อความลายเซ็นยาวเกินไป ผู้รับอาจจะไม่สนใจข้อความลายเซ็นนั้นไปเลย โดยเฉพาะบรรทัดสุดท้ายอาจจะตกขอบจอคอมพิวเตอร์ได้
 
สุดท้าย ท่านอาจจะมีข้อความลายเซ็นได้มากกว่าหนึ่งลายเซ็น ท่านสามารถเลือกลงลายเซ็นตามกลุ่มเป้าหมาย กลุ่มเป้าหมายอาจจะแบ่งตามประเภทของผู้รับ เช่น ลูกค้า ผู้ขาย พันธมิตร เพื่อน เป็นต้น และอาจจะแบ่งตามภาษาที่ใช้ด้วย เพราะผู้รับบางท่านอาจจะอ่านภาษาไทยไม่ได้ ท่านก็ต้องใช้ข้อความลายเซ็นภาษาอังกฤษหรือภาษาอื่นที่อ่านได้ 
 
ผู้แต่ง : นาวิก นำเสียง
บริษัท ซันเด โซลูชันส์​ จำกัด
www.sundae.co.th 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น